วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานที่ท่องเที่ยยวจังหวัดสระแก้ว

สระแก้ว สระขวัญ

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ในสวนสาธารณะสระแก้ว สระขวัญ ใกล้กับสำนักงานเทศบาลเมืองสระแก้ว ถนนสุวรรณศร (ประมาณกิโลเมตรที่ 246-247) เข้าซอยเทศบาล 2 เชื่อกันว่าน้ำในสระแห่งนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีประวัติว่าในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อคราวเจ้าพระยาจักรี(ทองด้วง) ได้รับมอบหมายจากพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ยกทัพไปปราบปรามความไม่สงบในกัมพูชา ขณะที่ยกทัพมาถึงเขตจังหวัดสระแก้วในปัจจุบัน

ได้แวะพักที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ก่อนที่จะยกทัพไปตีเสียมราฐ และเมื่อยกทัพไปถึงก็สามารถจัดการความไม่สงบในเขมรได้สำเร็จ สระแก้ว สระขวัญจึงเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นที่มาของชื่อจังหวัดสระแก้ว นอกจากนี้น้ำในสระแห่งนี้ยังเคยถูกนำไปใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีก ด้วย

อุทยานแห่งชาติปางสีดา

มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 844ตารางกิโลเมตร หรือ 527,500 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 อาณาเขตทางด้านทิศเหนือทั้งหมดกับด้านทิศตะวันตกบางส่วนมีแนวป่าต่อเนื่อง กับอุทยานแห่งชาติทับลาน สภาพป่าเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน ทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าทุ่งหญ้าเป็นต้น เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยสัตว์ป่าหายากและนกกว่า 300 ชนิด เช่น กระทิง ช้าง เก้ง กวาง หมูป่า นกเงือก นกยูง นกขุนทองและมีผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์ตลอดทั้งปี

เป็นแหล่งจระเข้น้ำจืดที่ยังเหลืออยู่ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารหลายสายเช่น ห้วยโสมง ห้วยน้ำเย็น ห้วยพระปรง ห้วยพลับพลึง ห้วยยาง ห้วยเลิงไผ่ ฯลฯ ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคตะวันออกภายในอุทยานฯ มีสถานที่น่าสนใจ ได้แก่

น้ำตกปางสีดา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 800 เมตร เป็นน้ำตกที่ไหลจากหน้าผา 3 ชั้น สูงประมาณ 8 เมตร ตัวน้ำตกไหลลงสู่เบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำกว้างใหญ่และลานหิน บรรยากาศร่มรื่น เหมาะแก่การเล่นน้ำ และมีน้ำมากในฤดูฝน

น้ำตกผาตะเคียน อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากน้ำตกปางสีดาประมาณ 2.5 กิโลเมตร สามารถเดินทางเท้าได้ 2 เส้นทาง มีป้ายบอกตลอดเส้นทางทุก ๆ 300 เมตร ตลอดเส้นทางขึ้นสู่น้ำตกร่มรื่นด้วยแมกไม้หนาทึบ เป็นน้ำตกชั้นสุดท้ายที่อยู่สายเดียวกับน้ำตกปางสีดา น้ำตกทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร เหมาะสำหรับเดินป่าศึกษาธรรมชาติ

ทุ่งหญ้าโป่งกระทิง เดิมเป็นหมู่บ้านเก่าที่กลายเป็นทุ่งหญ้ารกร้าง ภายหลังอพยพผู้คนออกไป มีลักษณะคล้ายทุ่งหญ้าที่มอสิงโตในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสัตว์ป่าออกหากินบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ทางอุทยานฯ ได้ทำโป่งเทียมและหอดูสัตว์ไว้ จากถนนภายในอุทยานฯมีทางแยกบริเวณกิโลเมตรที่ 3.5 และกิโลเมตรที่ 6 แล้วเดินเท้าอีกประมาณ 2กิโลเมตร ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติโป่งกระทิงซึ่งมีโป่งธรรมชาติที่อาจพบสัตว์ป่าได้ ไม่ยาก

น้ำตกถ้ำค้างคาว จากที่ทำการถึงหลักกิโลเมตรที่ 22ให้เดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกมีค้างคาวอาศัยอยู่ในถ้ำมากมาย เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งที่ไหลจากหน้าผาสูง และแรงจนเกิดเสียงก้อง ตั้งอยู่กลางป่าลึกใช้เวลาเดินทางไป/ กลับ 3 วัน 2 คืน ติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่ ที่ทำการอุทยานฯ

น้ำตกทับซุง เป็นน้ำตกแห่งใหม่ของอุทยานฯ ระหว่างทางเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีพรรณไม้หลากหลายชนิด อยู่ช่วงกิโลเมตรที่ 22 แล้วเดินเท้าอีก 1.5 กิโลเมตร

จุดชมวิว เป็นหุบเขากว้าง ห่างจากที่ทำการไปประมาณ กิโลเมตรที่ 25และกิโลเมตรที่ 35 สามารถชมภูมิประเทศโดยรอบ และชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกได้ สามารถขับรถไปได้จากที่ทำการอุทยานฯ

กลุ่มน้ำตกแควมะค่า จากที่ทำการอุทยานฯ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 40 ให้เดินเท้าต่ออีกประมาณ 6 กิโลเมตร ตัวน้ำตกทิ้งตัวจากหน้าผาสูงประมาณ 70 เมตร เหมาะสำหรับเดินป่า และสามารถกางเต็นท์ได้ ใกล้ ๆ กันยังมีน้ำตกรากไทรย้อย ห่างจากน้ำตกแควมะค่า ประมาณ 500 เมตร น้ำตกลานหินใหญ่ ห่างจากน้ำตกแควมะค่า ประมาณ 1.5 กิโลเมตร น้ำตกสวนมั่น สวนทอง ห่างจากน้ำตกแควมะค่า ประมาณ 3 กิโลเมตร และน้ำตกม่านธารา ห่างจากน้ำตกแควมะค่า ประมาณ 4 กิโลเมตร กลุ่มน้ำตกแห่งนี้ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากเป็นกลุ่มน้ำตกที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนป่า

ศาลหลักเมือง

ตั้งอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 33 จากตัวเมืองไปทางอำเภอวัฒนานครประมาณ 4 กิโลเมตรทางซ้ายมือ ณ ปริมณฑลสวนกาญจนาภิเษก หมู่ที่ 3 ตำบลท่าเกษม ศาลหลักเมืองจัดสร้างตามแบบมาตรฐานของกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นปรางค์องค์ใหญ่กว้าง 6.60 เมตร สูง 19.10 เมตร และปรางค์ 4 ทิศโดยรอบ

ภายในศาลประดิษฐานเสาหลักเมืองซึ่งเป็นไม้ชัยพฤกษ์ที่มีคุณลักษณะต้องตาม โบราณราชประเพณีขนาดเส้นรอบวงที่โคนต้น 120 นิ้ว สูง 229 นิ้ว และแผ่นทองดวงเมืองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2539 และมีการประกอบพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นประดิษฐานในศาลเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2539 ศาลแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่ง ความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเป็นศูนย์รวมขวัญกำลังใจ ความสามัคคีในหมู่พสกนิกรชาวสระแก้ว

อุทยานแห่งชาติตาพระยา

เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีการประกาศจัดตั้งเมื่อ พ.ศ.2539มีพื้นที่ทั้งหมด 371,250 ไร่ หรือ 594 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่และขอบเขตของอุทยานมีลักษณะเป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกติดกับเขต อุทยานแห่งชาติปางสีดาไปจรดทิศตะวันออกประเทศกัมพูชา ทิศเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติทับลานและเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ทิศใต้อยู่ในเขตอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบโอบล้อมด้วยขุนเขา เทือกเขาสำคัญของอุทยานฯ คือ เทือกเขาบรรทัดที่ทอดยาวไปทางทิศตะวันออก เป็นกำแพงธรรมชาติกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาบริเวณไหล่เขาเป็นพื้นราบ มีพรรณไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง เป็นแหล่งต้น กำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ลำสะโตน ห้วยซับกระโดนและลำนางรอง

เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น กระทิง หมูป่า เก้ง กวาง กระจง หมี เสือป่า เสือไฟ วัวแดง หมาใน แมวป่า ช้าง เม่น พังพอน เป็นต้น และยังมีนกพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่กว่า 300 ชนิด เช่น นกพญาไฟ นกขุนแผน นกหัวขวาน นกแขวก นกเขาเขียว นกกางเขนดง ไก่ป่า ไก่ฟ้า เหยี่ยว จุดเด่นของอุทยานนี้อยู่ที่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้รองรับนักท่องเที่ยว หลายเส้นทาง เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชอบดูนก ดูผีเสื้อ ศึกษาพรรณไม้และสัตว์ป่า ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ นอกจากจะมีโป่งสัตว์ น้ำซับ จุดชมวิว ตลอดเส้นทางเดินจะพบนกนานาชนิดและความงามของป่าสองข้างทาง สามารถเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างที่งดงามแล้ว ยังมีโป่งยุบที่มีลักษณะคล้ายละลุ และแพะเมืองผีแต่ขนาดเล็กกว่า มีบริเวณกว้าง 40 ตารางเมตรให้ได้แวะชมอีกด้วย

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ

จุดชมวิวบนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งจะมองเห็นเทือกเขาพรานนุช และเทือกเขาสะแกกรอง ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร

ลานกระเจียว เป็นลานหินที่มีดอกกระเจียวขึ้นอย่างสวยงามและมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์

ช่องโอบก เป็นจุดชมทิวทัศน์สุดเขตแดนสยาม จากจุดนี้จะมองเห็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และหมู่บ้านของกัมพูชา การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2121 และมาแยกที่ถนนสายโท 1

ศาลมีอักษรเขียนลงแผ่นดินแปรลายพระราชหัตถ์ อยู่บนทางหลวงหมายเลข 3068 นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมแวะมาสักการะและชมทิวทัศน์

เขายักษ์ เป็นภาพแกะสลักโบราณรูปฤาษีแกะสลัก บนก้อนหินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าอุทยานฯ กิโลเมตรที่ 5

ลานหินตัด มีร่องรอยการตัดหินเพื่อนำไปสร้างปราสาทและมีลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม ใช้ทางหลวงหมายเลข 2121 และเดินตามถนนสายตรี 4

การเดินทางรถยนต์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 33 ผ่านตัวจังหวัดสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร เมื่อถึงอำเภออรัญประเทศให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 348 ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 76 เลยจากอำเภอตาพระยามาประมาณ 27 กิโลเมตร จะเห็นทางเข้าที่ทำการฯ เป็นทางลูกรังอัดแน่นเข้าไปประมาณ 13 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

รถโดยสารประจำทาง จากอรัญประเทศนั่งรถโดยสารสายอรัญประเทศ-บุรีรัมย์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ลงรถที่วัดเขาช่องตะโก ซึ่งอยู่ตรงข้ามที่ทำการอุทยานฯ

ค่าธรรมเนียมในการเข้าอุทยานฯ ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท จักรยาน 10 บาท จักรยานยนต์ 20 บาท รถสี่ล้อ 30 บาทและรถหกล้อ 100 บาท ผู้ที่ต้องการพักค้างคืน ทางอุทยานฯ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ ผู้มาพักต้องนำเครื่องนอนและเต็นท์มาเองและจะต้องเตรียมอาหารมาด้วย ทางอุทยานฯ มีที่ประกอบอาหารและโรงอาหารขนาดเล็กไว้บริการ

ผู้สนใจศึกษาธรรมชาติติดต่อที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา ตู้ ป.ณ.9 อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ โทร. 0 3749 8002, 08 1723 5663, 08 9095 4438 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

ถ้ำเพชรโพธิ์ทอง

ตั้งอยู่บ้านเขาเลื่อม เป็นถ้ำขนาดกลางอยู่ในภูเขาที่ทอดยาวขนานไปกับพื้นดิน เดินเท้าขึ้นภูเขาผ่านป่าจันผาที่ชุมชนได้ร่วมอนุรักษ์และปลูกเพิ่มจากเดิม ที่กำลังจะสูญพันธุ์ พร้อมชมผืนป่าที่เริ่มพลิกฟื้นให้สมบูรณ์ดังเดิม ที่ปากถ้ำมีลมเย็นพัดผ่านช่องเขาเข้าไปในถ้ำถ่ายเทตลอดเวลา ส่งผลให้ภายในถ้ำไม่อบอ้าวแต่เย็นสบายตลอดทั้งปี

ภายในถ้ำจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน จุดแรก ก้าวเท้าสู่ประตูถ้ำเพชรโพธิ์ทองที่หันหน้าไปทางตะวันตก เป็นลานกว้างรูปไข่ มีหินสีขาวนวลที่ถูกจัดวางโดยธรรมชาติ จากนั้นลงสู่ห้องโถงอุโมงค์ใหญ่ จุดที่สอง จุดนี้นักท่องเที่ยวจะรู้สึกถึงระบบการถ่ายเทของอากาศที่เย็นสบายตลอดเวลา มีแสงแดดสาดส่องเข้ามาทางด้านทิศเหนือ จุดที่สาม เดินเท้าสู่ห้องมุขประดับเพชร เป็นห้องขนาดใหญ่และเป็นจุดสำคัญ เป็นที่มาของชื่อถ้ำ มีหินงอกหินย้อยเป็นมุขทรงเจดีย์หรือทรงรูปไข่สีขาว มีเกล็ดทรายประดับระยิบระยับเมื่อต้องแสงไฟ ตลอดทั้งผนังของถ้ำและพื้นผิวของเพดานถ้ำมีรูปคล้าย ๆ ใบโพธิ์สีทอง

ซึ่งเกิดจากน้ำขังในแอ่งหินด้านบนภูเขาจนเกิดสนิมน้ำทะลุผ่านจนเป็นดวง เป็นรูปคล้ายใบโพธิ์ บางรูปมีรูปร่างแปลกตาตามแต่ใครจะจินตนาการ มาจุดสุดท้าย ประตูปราสาทถ้ำเพชรโพธิ์ทอง เป็นพื้นต่างระดับ มีหินปากประตูสีนวลขาวเรียบเนียน มีหินงอกรูปร่างคล้ายพระพุทธรูปจนกล่าวขานว่าส่วนสุดท้ายเป็นห้องพระมีบันได ให้สามารถขึ้นไปชมด้านบนได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลคลองหาด โทร. 03751 2142, 08 9936 3880

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเดินทางไปจังหวัดสระแก้ว

สระแก้วอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 236 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดสระแก้วได้อย่างสะดวกหลายวิธี ทั้งโดยรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

การเดินทางไป สระแก้ว

โดยรถไฟ:
การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดสระแก้วทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3.5-4.5 ชั่วโมง

นัก ท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางและราคาตั๋วโดยสารของการรถไฟแห่ง ประเทศไทยได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ www.railway.co.th และจองตั๋วรถไฟก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2220-4444 ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.

โดยรถยนต์:
จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 4 เส้นทาง ได้แก่

1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงรังสิต แล้วใช้สะพานวงแหวนแยกขวา เข้าเส้นทางหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่านอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก แล้วแยกขวาใช้เส้นทางหมายเลข 33 ผ่านอำเภอกบินทร์บุรี ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว รวมระยะทางประมาณ 214 กิโลเมตร

2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่านอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงแยกหินกอง ประมาณกิโลเมตรที่ 90 แยกขวาใช้เส้นทางหมายเลข 33 ผ่านอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครนายก และอำเภอกบินทร์บุรี ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว รวมระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร

3. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม ถึงอำเภอกบินทร์บุรี แยกขวาเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 33 ไปจนถึงจังหวัดสระแก้ว รวมระยะทางประมาณ 210 กิโลเมตร

4. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จนถึงประมาณกิโลเมตรที่ 54 ให้แยกขวาไปตามทางหมายเลข 359 อีกประมาณ 65 กิโลเมตรถึงจังหวัดสระแก้ว

โดยรถประจำทาง:
มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-สระแก้ว ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ หมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com

การเดินทางภายใน สระแก้ว

ในตัวจังหวัดสระแก้วมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถ สองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสาม ล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองสระแก้วไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอเขาฉกรรจ์ 19 กิโลเมตร

อำเภอวัฒนานคร 38 กิโลเมตร

อำเภอวังน้ำเย็น 50 กิโลเมตร

อำเภออรัญประเทศ 54 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ 55 กิโลเมตร

อำเภอคลองหาด 65 กิโลเมตร

อำเภอโคกสูง 72 กิโลเมตร

อำเภอตาพระยา 100 กิโลเมตร

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลจังหวัดสระแก้ว

ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างาม น้ำตกสวย มากด้วยรอยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย–เขมร
จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดใหม่ที่แยกออกจากจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่ติดชายแดนประเทศด้านตะวันออก มีแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายแห่ง และมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เช่น อุทยานแห่งชาติปางสีดาและอุทยานแห่งชาติตาพระยา

นอกจากนี้ สระแก้วยังมีประติมากรรมทางธรรมชาติอย่าง "ละลุ" ที่มีลักษณะแปลกตา และที่สุดชายแดนอำเภออรัญประเทศ เป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดสู่อาณาจักรกัมพูชา เชื่อมการคมนาคมและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้เป็นเส้นทางเดียวกัน มีตลาดโรงเกลือที่เต็มไปด้วยของราคาถูกและสินค้ามือสองจากนานาประเทศเพื่อน บ้าน

จังหวัดสระแก้วมีเนื้อที่ประมาณ 7,195.138 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,497 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 28 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ริมชายแดนด้านตะวันออกของประเทศ มีพรมแดนติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชาทางทิศตะวันออก ยาวประมาณ 165 กิโลเมตร สภาพพื้นที่มีทั้งที่ราบ ที่ราบสูง และภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย 74 เมตร โดยมีทิวเขาบรรทัดอยู่ทางตอนบนของจังหวัด เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำบางปะกง และเป็นป่าทึบในบริเวณอุทยานแห่งชาติปางสีดา ทางด้านใต้เป็นที่ราบเชิงเขา มีสภาพเป็นป่าโปร่งเสื่อมโทรม ส่วนใหญ่ถูกบุกรุกและแผ้วถางเพื่อทำการเกษตร ทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบถึงที่ราบสูง และมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ทางด้านตะวันตกเป็นสันปันน้ำ และพื้นที่ลาดไปทางอำเภอเมืองสระแก้วและอำเภออรัญประเทศ ต่อเนื่องเข้าเขตราชอาณาจักรกัมพูชา ส่วนตอนกลางมีลักษณะเป็นที่ราบ ได้แก่ พื้นที่ของอำเภอวังน้ำเย็นและอำเภอวังสมบูรณ์

จังหวัดสระแก้วตั้ง อยู่ติดชายแดนประเทศด้านตะวันออก เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับ 4,000 ปี ตั้งแต่ยุคหินใหม่ โดยมีการค้นพบวัตถุโบราณที่อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภออรัญประเทศ และอำเภอตาพระยา เป็นหลักฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคเจนละและ ทวารวดี มีอารยธรรมและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองที่นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานและจารึกรูปอักษรปัลลวะ ที่ปรากฏในบริเวณปราสาทเขาน้อย เขตอรัญประเทศ ซึ่งถือกันว่าเป็นหลักฐานบันทึกศักราชที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มจารึกรุ่นแรก ที่พบในประเทศไทย สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 1180

นอกจากนี้ยังค้นพบหลัก ฐานความเจริญของอารยธรรมระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 ในแถบนี้อย่างมากมาย มีทั้งปราสาทอิฐ ปราสาทหิน เตาเผา เครื่องถ้วย และคูเมืองโบราณที่ยังเหลือร่องรอยปรากฏในปัจจุบัน เช่น ปราสาทสด๊กก๊อกธม ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของพระศิวะ

จังหวัดสระแก้วมีที่มา จากชื่อสระน้ำโบราณในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว ซึ่งมีอยู่ 2 สระ โดยในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2523 ในสมัยกรุงธนบุรี ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีราชอาณาจักรกัมพูชา ได้แวะพักบริเวณสระน้ำทั้ง 2 แห่งนี้ และขนานนามว่า "สระแก้วสระขวัญ" ต่อมาได้นำน้ำจากสระทั้ง 2 แห่งนี้ไปใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

แต่เดิมสระแก้วมีฐานะเป็นตำบล เป็นที่ตั้งของด่านตรวจคนและสินค้าเข้าออก มีข้าราชการตำแหน่งนายกองทำหน้าที่เป็นนายด่าน จนถึงปี พ.ศ. 2452 ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็น "อำเภอสระแก้ว" อยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี และต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสระแก้วขึ้น เป็นผลให้สระแก้วกลายเป็นจังหวัดที่ 74 ของประเทศไทยนับแต่นั้นมา

สระแก้ว แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอคลองหาด อำเภอตาพระยา อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอโคกสูง และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์